วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

หน่วยที่ 1 วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม

ใบความรู้เรื่อง วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม (โยนิโสมนสิการ)








ความหมายของวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ
                 พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายความหมายของโยนิโสมนสิการไว้ว่า โยนิโสมนสิการ คือ การคิดอย่างถูกวิธี  คิดอย่างมีระเบียบ  คิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง  เป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างปัญญาที่บริสุทธิ์  เป็นอิสระ  ทำให้ทุกคนช่วยตนเองได้  และนำไปสู่จุดหมายของพุทธธรรมอย่างแท้จริง (พระพรหมคุณาภรณ์. 2546 : 669-676)

ความสำคัญ
                วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ  เป็นวิธีคิดที่มีจุดมุ่งหมายที่จะสกัดหรือกำจัดอวิชชา (ความไม่รู้)  และบรรเทาตัณหา (ความอยาก) โดยตรง  กล่าวคือ  ผู้ที่รู้จักคิดแบบโยนิโสมนสิการย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง  เป็นผู้ที่คิดเป็น  คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล  ซึ่งจะเป็นทางที่เข้าถึงความจริงทั้งหลาย  ทำให้รู้จักใช้สิ่งทั้งหลายให้เป็นประโยชน์  ถ้าบุคคลทุกคนคิดเป็นก็ย่อมคิดในสิ่งที่ถูกต้อง              ไม่ปล่อยใจให้หลงใหลเพลิดเพลินในวัฒนธรรมจากภายนอกที่หลั่งไหลเข้ามา  ซึ่งในสภาพการณ์ปัจจุบัน     มีการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกด้าน  ตลอดทั้งเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร  ความเจริญทางด้านวัตถุเป็นสิ่งเร้ายั่วยุ     ให้คนหลงใหลไปกับความยั่วยวนต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา  ถ้าบุคคลคิดเป็นก็ย่อมเกิดปัญญา  ไม่ปล่อยใจให้เพลิดเพลินหลงใหลในความสำเร็จต่างๆ ในโลกสมมุติ  กับเห็นคุณและโทษของมัน  มีปัญญาในการสลัด  สิ่งไม่ดีออกไป  อีกทั้งรู้จักคิดที่จะดำรงชีวิตให้ตั้งอยู่ในทิศทางที่เหมาะสม  ส่งผลต่อความสุขสงบของชีวิต  และถ้าทุกคนในสังคมยึดถือแนวคิดแบบโยนิโสมนสิการ  ก็ย่อมส่งผลต่อความสงบสุข  ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมตลอดไป

องค์ประกอบ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ประมวลวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการออกเป็น 10 วิธี ดังนี้
(พระพรหมคุณาภรณ์. 2546 : 676-727)
1. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย
2.  วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ
3.  วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์  หรือวิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา
        4. วิธีคิดแบบอริยสัจจ์  หรือวิธีคิดแบบแก้ปัญหา

      5. วิธีคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย  หรือวิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์
6. วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก
7.  วิธีคิดแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม
8.  วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม  หรือวิธีคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม (แบบกุศลภาวนา)
9.  วิธีคิดแบบเป็นอยู่กับปัจจุบัน
        10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท  หรือวิธีคิดแล้วแสดงออกเป็นวิภัชชวาท (พูดจำแนก)

แนวทางการฝึกคิดแบบโยนิโสมนสิการ
ในการฝึกแบบโยนิโสมนสิการทั้ง 10 วิธีนั้น ครูผู้สอนสามารถฝึกให้นักเรียนรู้จักคิดได้หลายลักษณะ เช่น จากการยกตัวอย่างประกอบ การวิเคราะห์จากภาพ จากนิทาน จากเหตุการณ์ในปัจจุบัน ฯลฯ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                   1.  วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คือ พิจารณาเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ที่เป็นผล กล่าวคือ  การพิจาณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำต่างๆ แล้วสืบค้น สืบสาวไปถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดผลนั้น อาจทำโดยการหาความสัมพันธ์ หรือการตั้งคำถามแล้วหาคำตอบ เมื่อหาคำตอบที่แท้จริงแล้วย่อมสามารถสืบสาวไปถึงวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ให้รู้จักสภาวะที่เป็นจริง หรือพิจารณาปัญหา หาหนทางแก้ไข ด้วยการค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมา
ตัวอย่างคำถามที่ฝึกให้คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย
                   ทำไมนักเรียนจึงขีดฝาผนังห้องเรียน          "          เพราะสนุกที่ได้ขีดเขียน
                   ทำไมจึงมีความสนุกต่อการขีดเขียน             "          เพราะได้ทำตามใจตนเอง
                   ทำไมนักเรียนจึงทำอะไรตามใจตนเอง       "          เพราะไม่มีระเบียบวินัย
                   ทำไมนักเรียนจึงไม่มีระเบียบวินัย                "          เพราะไม่เห็นความสำคัญของระเบียบวินัย
                   ทำไมนักเรียนจึงไม่เห็นความสำคัญของระเบียบวินัย  "  เพราะไม่มีผู้ชี้นำ

               เมื่อสืบสาวไปพบสาเหตุที่แท้จริงแล้วก็ต้องแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ คือ 
ต้องมีผู้ชี้นำสร้างความตระหนักแก่นักเรียนเพื่อให้เห็นความสำคัญของการมีระเบียบวินัย


· เพราะครูชี้นำด้วยการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักแก่นักเรียนเพื่อให้เห็นความสำคัญของการมีระเบียบวินัย  "  นักเรียนก็จะเห็นความสำคัญของการมีระเบียบวินัย
·  เพราะนักเรียนเห็นความสำคัญของการมีระเบียบวินัย  "  นักเรียนจึงไม่ทำอะไรตามใจตนเอง
·  เพราะนักเรียนไม่ทำอะไรตามใจตนเอง  "  นักเรียนจึงไม่ขีดเขียนฝาผนังห้องเรียน
        ·เพราะนักเรียนไม่ขีดเขียนฝาผนังห้องเรียน  "  จึงไม่มีรอยขีดเขียนสกปรกบนฝาผนังห้องเรียน

            การแก้ปัญหาเมื่อมีรอยขีดเขียนฝาผนังห้องเรียนนั้นจะต้องสืบสาว
ไปหาสาเหตุที่แท้จริง แล้วแก้ปัญหาที่สาเหตุ เมื่อแก้ปัญหาได้แล้ว
คือ ผลการคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย

             2.  วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ  หรือกระจายเนื้อหา  เป็นการคิดที่มุ่งให้มองและให้รู้จักสิ่งทั้งหลายตามสภาวะของมันเองอีกแบบหนึ่ง  ในทางธรรมมักใช้พิจารณาเพื่อให้เห็นความไม่มีแก่นสาร หรือความไม่เป็นตัวไม่เป็นตนที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย
วิธีคิดแบบนี้จะฝึกให้คิดแบบแยกแยะองค์รวมของสิ่งต่างๆ และยังมีการคิดวิเคราะห์จัดประเภทหมวดหมู่ขององค์ประกอบนั้น  กล่าวคือ  เมื่อแยกแยะส่วนประกอบออกก็เห็นภาวะที่องค์ประกอบเหล่านั้นอาศัยกันและขึ้นต่อเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่เป็นตัวของมันเองโดยแท้จริง ยิ่งกว่านั้น องค์ประกอบและเหตุปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นล้วนเป็นไปตามกฎธรรมดา มีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน  ซึ่งการคิดแบบนี้จะทำให้เห็นความไม่มีแก่นสารหรือความไม่เป็นตัวตนที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายให้หาย      ยึดติดถือมั่นในสมมุติบัญญัติ                                                                

3.  วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์  หรือวิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา คือ มองอย่างรู้เท่าทันความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมันเอง ในฐานะที่มันเป็นสิ่งซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องดับไป ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน ไม่คงอยู่ตลอดไป เป็นอนิจจัง
                 ผู้ที่สามารถคิดแบบสามัญลักษณ์ได้ มักเป็นผู้ที่มีสติ ไม่วู่วาม มองทุกสิ่งว่าเมื่อเกิดขึ้นได้                    ก็เปลี่ยนแปลงได้ ดับสูญได้ ไม่มีใครจะครอบครองทุกสิ่งทุกอย่างได้ตลอดไป บุคคลที่คิดเช่นนี้จะเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ


4.  วิธีคิดแบบอริยสัจจ์  หรือวิธีคิดแบบแก้ปัญหา มีลักษณะ 2 ประการ คือ
                     1)   คิดตามเหตุและผล หรือเป็นไปตามเหตุและผล สืบสาวจากผลไปหาเหตุแล้วแก้ไขที่ต้นเหตุ
     2)     ต้องกำหนดรู้  และทำความเข้าใจปัญหาให้ชัดเจน แล้วคิดแก้ไขสาเหตุของปัญหาให้ตรงจุด ตรงเรื่อง ตรงความมุ่งหมาย ไม่ฟุ้งซ่านออกไปเรื่องอื่น และต้องเป็นการแก้ไขที่ปฏิบัติได้จริง

5.  วิธีคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย หรือวิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ คือ พิจารณาให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับอรรถ หรือหลักการกับความมุ่งหมาย เมื่อจะลงมือปฏิบัติธรรมหรือทำการตามหลักการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้ผลตรงตามความมุ่งหมาย ไม่เป็นการกระทำที่เคลื่อนคลาด เลื่อนลอย หรืองมงาย
6.  วิธีคิดแบบคุณ โทษ และทางออก  เป็นการมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เน้นการยอมรับความจริงตามที่สิ่งนั้นๆ เป็นอยู่ทุกแง่ทุกด้าน ทั้งด้านดี (เป็นคุณ) ด้านเสีย (เป็นโทษ) เมื่อมองเห็นทั้งด้านดีด้านเสียแล้ว ทางออกคืออะไร หรือเป็นอย่างไร
7.  วิธีคิดแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม  เป็นวิธีคิดแบบสกัดหรือบรรเทาตัณหา เป็นขั้นฝึกหัดขัดเกลากิเลสหรือตัดทางไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจแล้วชักจูงพฤติกรรมต่อๆ ไป
คนที่มีวิธีคิดแบบคุณค่าแท้ มักเป็นคนใช้ปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบ สามารถตัดสินใจได้ถูกต้อง
8.  วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม หรือวิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม (แบบกุศลภาวนา)  เป็นวิธีคิดที่รู้จักนำเอาประสบการณ์ที่ผ่านมาคิดปรุงแต่งไปในทางที่ดีงาม เป็นประโยชน์ เป็นกุศล เป็นวิธีคิดในแนวสกัดกั้นหรือบรรเทาและขัดเกลาตัณหา เป็นข้อปฏิบัติระดับต้นๆ สำหรับส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรม การคิดในทางที่เป็นกุศล จะช่วยให้บุคคลเกิดกำลังใจที่จะทำงานตามหน้าที่ ทำความดีที่เกิดประโยชน์อยู่เสมอ ส่งผลต่อการแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมในการสร้างสรรค์
9.  วิธีคิดแบบเป็นอยู่กับปัจจุบัน  ความคิดชนิดที่อยู่กับปัจจุบัน เป็นการคิดในแนวทางความรู้หรือคิดด้วยอำนาจปัญญา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นอยู่ในขณะนี้ หรือเป็นเรื่องผ่านไปแล้ว หรือเป็นเรื่องของกาลภายภาคหน้า ก็จัดเข้าในการเป็นอยู่กับปัจจุบันทั้งนั้น
10.   วิธีคิดแบบวิภัชชวาท  หรือวิธีคิดแล้วแสดงออกเป็นวิภัชชวาท (พูดจำแนก)
                        วิภัชชวาทไม่ใช่วิธีคิดโดยตรง  แต่เป็นวิธีพูดหรือแสดงหลักการแห่งคำสอนแบบหนึ่ง  อย่างไรก็ตามการคิดกับการพูดเป็นกรรมที่ใกล้ชิดกันที่สุด  ก่อนที่จะพูดก็ต้องคิดก่อน  สิ่งที่พูดล้วนสำเร็จมาจากความคิดทั้งสิ้น  วิธีคิดแบบวิภัชชวาทเป็นวิธีคิดวิเคราะห์ในลักษณะต่างๆ ต่อไปนี้
1)  จำแนกสภาวะต่างๆ ออกเป็นด้านๆ ตามที่เป็นอยู่จริง  แบ่งออกเป็น 2 วิธี  คือ
(1)  จำแนกไปทีละด้าน  ทีละประเด็น
(2)  จำแนกทีละด้านจนครบทุกประเด็น  แล้วจึงจำแนกด้านอื่นต่อไป
ตัวอย่างเช่น  เราจะเลือก ส.ส.สังกัดพรรคการเมืองใดมาเป็นผู้แทน  ก็ต้องคิดจำแนกรายละเอียดของข้อมูลเกี่ยวกับพรรคที่เขาสังกัดนั้นในแต่ละด้าน เช่น ระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์ ผลงานที่ปรากฏ เป็นต้น  แล้วจึงตัดสินใจเลือก

สรุปได้ว่า  วิธีคิดตามหลักพุทธธรรมหรือวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ  จัดได้ว่าเป็นการคิดที่ใช้ปัญญาและทำให้ปัญญาเจริญงอกงามยิ่งขึ้น  นำไปสู่การแก้ปัญหา  เป็นทางแห่งความดับทุกข์และทำให้เกิดการศึกษาต่อไป  นับได้ว่าเป็นการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี  เป็นส่วนสำคัญของการศึกษาหรือพัฒนาตนในด้านการพัฒนาปัญญา  ทำให้สามารถดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีงามและพึ่งพาตนเองได้
ดังนั้นครูผู้สอนควรจัดการเรียนการสอนที่จะส่งเสริมกระตุ้นเร้าให้นักเรียนได้ฝึกฝนวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการอยู่เสมอ  ซึ่งสามารถฝึกให้นักเรียนได้บูรณาการ  วิธีคิดหลายๆ แบบของโยนิโสมนสิการเชื่อมโยงเข้าไปด้วยกันได้  ทำให้นักเรียนรู้จักคิดอย่างมีระเบียบ  มีสติสัมปชัญญะ  มองทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง  รู้จักค้นหาความจริงก่อนที่จะตัดสินใจบนพื้นฐานของความคิดที่ถูกต้อง  ด้วยวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ  และเมื่อคิดถูกก็ย่อมตัดสินใจกระทำการที่ถูกต้องได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

ที่มา :   สุคนธ์ สินธพานนท์ และคณะ. พัฒนาทักษะการคิด...พิชิตการสอน : กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง, 2550.